ทำความรู้จักกับ Carbon Credit

get to know carbon credit

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร

สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม (ปกติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จะเทียบกับสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์) รวมถึง การเก็บกัก หรือ การดูดกลับด้วย จากกิจกรรมหรือโครงการ ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะต้องมีการรับรองโดยหน่วยรับรอง ตามระเบียบหรือวิธีการของทางราชการที่เป็นที่ยอมรับหรือเทียบได้กับระดับสากล โดยประเทศไทยก็มีหน่วยงานชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นองค์การมหาชน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยวิเคราะห์ กลั่นกรอง และรับรองโครงการ   

ตลาดคาร์บอน (Carbon Market) 

ถูกตั้งขึ้นเพื่อทำการซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ในการบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่กำหนดไว้ หรือเพื่อชดเชย (Offset) การปล่อยเมื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชุมแบบความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Meeting) เป็นการดำเนินการองค์กรที่มีเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น กรณีของประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างกฎหมาย) 

โดยตลาดคาร์บอนมีอยู่ 2 ประเภท คือ ภาคบังคับ ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และภาคสมัครใจ 

  1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) ตั้งขึ้นจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย มีกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายกำกับอย่างชัดเจน ซึ่งต้องมีรัฐบาลออกกฎหมายและเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
  1. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ตั้งขึ้นโดยไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับ เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กรเพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดด้วยความสมัครใจ โดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ (Voluntary) แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally Binding Target) 
คาร์บอนเครดิต

ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการจะถูกประเมินมูลค่าเป็นจำนวนเงิน (ราคา) ต่อ tCO2eq และสามารถนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการคาร์บอนเครดิตไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting) ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ และการจัดอีเวนต์ 

โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 

1. การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ 

2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over the counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยไม่ผ่านตลาด

ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER
ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER

สำหรับคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยจะได้จากการดำเนินการผ่านโครงการ Thailand Voluntary Emissions Reduction (T-VER) และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยที่ คาร์บอนเครดิต มีหน่วยเป็น ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถพัฒนาเป็นโครงการ T-VER ได้ ต้องเข้าข่ายประเภทโครงการ ดังต่อไปนี้ 

  1. การพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น การผลิตหรือใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิง 
  2. การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เช่น การใช้อุปกรณ์เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง การนำความร้อนหรือความเย็นเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า ระบบความร้อนหรือระบบความเย็น 
  3. การจัดการในภาคขนส่ง เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในการคมนาคมขนส่ง การใช้ยานพาหนะไฮบริด/ไฟฟ้า 
  4. การจัดการของเสีย เช่น การหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซมีเทนจากน้ำเสีย การคัดแยกและนำกลับคืนขยะพลาสติก การผลิตปุ๋ย/สารปรับปรุงดินจากขยะอินทรีย์ 
  5. การเกษตร เช่น การใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี การปลูกพืชเกษตรยืนต้น การปลูกป่า/ต้นไม้ เช่น การปลูกป่าอย่างยั่งยืน
  6. การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น 
  7. CCUS เช่น การดักจับ กักเก็บ หรือการใช้ประโยชน์จากก๊าชเรือนกระจก

ประโยชน์คาร์บอนเครดิต 

  1. ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจให้ธุรกิจและองค์กรต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากพวกเขาสามารถขายคาร์บอนเครดิตที่เหลือจากการลดการปล่อยก๊าซได้ ซึ่งนำไปสู่รายได้เพิ่มเติม 
  1. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด คาร์บอนเครดิตเป็นแรงผลักดันให้มีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากโครงการเหล่านี้จะได้รับคาร์บอนเครดิตจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
  1. ส่งเสริมการปลูกป่าและการอนุรักษ์ป่าไม้ โครงการปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าไม้สามารถรับคาร์บอนเครดิตจากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในป่าไม้ ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้มีการดำเนินโครงการเพิ่มมากขึ้น 
  1. สร้างรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ตลาดคาร์บอนเครดิตสร้างโอกาสทางธุรกิจและรายได้ใหม่ๆ ให้กับบริษัทและประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนการจ้างงานและเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย 
  1. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกระดับโลกที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกประเทศต้องร่วมกันแก้ไข